พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง พลตำรวจเอกหญิง นายกองใหญ่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (เดิม: สังวาลย์ ตะละภัฏ; 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538) เป็นหม่อมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า "สมเด็จย่า"[1] ทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า "แม่ฟ้าหลวง"[2]
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา
พระราชประวัติ
ขณะทรงพระเยาว์
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีใน พ.ศ. 2456) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ณ จังหวัดนนทบุรี[3] เป็นบุตรคนที่ 3 ในนายชูและนางคำ มีพี่น้อง 2 คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่น้องชายซึ่งอ่อนกว่าสองปี คือ คุณถมยา[4]
นายชูมีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ ชุ่ม แต่ไม่ทราบนามของมารดา[3] ชุ่มมีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ส่วนพระชนนีคำ มีมารดาชื่อผา แต่ไม่ทราบนามของบิดา[3] นางคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น[5] จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และเฉลียวฉลาด
และเชื่อว่าเหล่าเครือญาติฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ เนื่องจากทางครอบครัวนิยมรับประทานข้าวเหนียว[3] ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นฐานเดิมของครอบครัว คือ บ้านช่างทอง ซึ่งตรงกับชุมชนชาวลาวด้านใต้ของธนบุรี อันเป็นชุมชนชาวลาวที่มีชื่อเสียงด้านฝีมือช่าง แต่ปัจจุบันชุมชนลาวดังกล่าวได้ย้ายไปยัง บ้านตีทอง รอบวัดสุทัศนเทพวรารามในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเครือญาติที่นิพนธ์นั้นอาจสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวที่เคยในชุมชนบ้านช่างทองก็เป็นได้[6]
นายชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็กหญิงสังวาลย์มีอายุ 3 ขวบ และนางคำถึงแก่กรรมเมื่อเด็กหญิงสังวาลย์มีอายุ 9 ขวบ[7] หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างม้วนบุหรี่ และทำขนมขาย วันหนึ่ง ญาติของครอบครัวนายชู มาแนะนำนางคำ ให้นำเด็กหญิงสังวาลย์ ไปฝากคุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นญาติและพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี (พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช) เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา[5]
|